ท่านผู้ปกครองและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ดิฉันขอขอบพระคุณโรงเรียนอนุบาลลพบุรี ที่ให้โอกาสศิษย์เก่าที่จบจากโรงเรียนเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว มาพบกับท่านผู้ปกครองที่แสนชาญฉลาดและโชคดี ณ ที่นี้ ที่ว่าท่านโชคดีก็คือลูกหลานของท่าน ได้มีโอกาสมาเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด และมีโปรแกรม MEP แห่งนี้ และที่ท่านชาญฉลาดเพราะท่านเลือกที่จะให้บุตรหลานของท่านเรียนในโปรแกรมนี้ วันนี้ดิฉันจะมาคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในหัวข้อเรื่องที่ว่า
"ทำไมลูกคุณจึงควรเรียนภาษาอังกฤษ เรียนเมื่อไร เรียนอย่างไร และเรียนกับใคร"
ทำไมลูกคุณจึงควรเรียนภาษาอังกฤษ
คิดดูง่าย ๆ นะคะ ถ้าท่านพูดภาษาไทย ท่านคุยกับคน 62 ล้านคนได้ แต่ถ้าท่านรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งภาษา ท่านจะคุยได้กับคนอีก 510 ล้านคน เราจะมีเพื่อนเพิ่มขึ้นอีก 8 - 9 เท่าเลยนะคะ
การรู้ภาษาอังกฤษมีข้อได้เปรียบมากมายทั้งในระดับชาติ และระดับสากล
หากท่านรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ย่อมมีโอกาสในการหางานที่ดีกว่า และมีรายได้สูงกว่า มีงานวิจัยหลายชิ้น บอกว่าคนที่เรียนภาษาที่ 2 คือรู้มากกว่า 1 ภาษา นอกจากจะสามารถสื่อสารกับคนต่างชาติได้แล้ว ยังเพิ่มทักษะการเรียนวิชาต่าง ๆ และมีความสามารถในการตัดสินใจได้ดีกว่าคนที่รู้ภาษาเดียว (Bamford & Mizokawa, 1991)
งานวิจัยที่ทำโดย คณะกรรมการการอุดมศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่านักเรียนที่เรียนภาษาที่ 2 มามากกว่า 4 ปี จะมีความสามารถทางภาษาที่หนึ่ง และทางคณิตศาสตร์ได้ดีกว่านักเรียนที่ไม่ได้เรียนภาษาที่ 2 (The College Board SAT, 2006)
แม้แต่ในประเทศมหาอำนาจ เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ เขาก็ให้ความสำคัญต่อการเรียนภาษาที่ 2 นอกเหนือกว่าภาษาอังกฤษมาก คือสมัยนี้รู้แค่ภาษาอังกฤษไม่ได้แล้ว เพราะการรู้ภาษาที่ 2 ทำให้ได้เปรียบทางธุรกิจ ทางการเมือง และความมั่นคงของชาติ ซึ่งขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนให้ประชากร เรียนภาษาที่ 2 ที่สำคัญคือ ภาษาจีน และภาษาอารบิค
ประเทศอินเดียที่มีประชากรพูดภาษาอังกฤษได้ดี ก็จะได้รับจ้างงานจากบริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ เพราะค่าแรงที่ประเทศเขาแพงมาก และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและถูก จึงย้าย Call Center ที่ให้บริการสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์มาไว้ที่ประเทศอินเดีย ผู้ใช้บริการสอบถามข้อมูลก็ได้คุยโทรศัพท์ข้ามประเทศโดยไม่รู้ตัว
ทางด้านงานการกุศลส่วนรวม เช่นองค์กรเอกชนอย่างโรตารี่ ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ทำโครงการขอมา ประเทศอินเดียก็จะได้เงินสนับสนุนมากกว่าประเทศอื่น ก็ด้วยการที่เขาเขียนโครงการและใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าชาติอื่น ๆ รวมทั้งชาติไทยด้วย
ในด้านการศึกษา เขาบังคับให้ผู้เรียนปริญญาเอกทุกคนต้องรู้คอมพิวเตอร์ และถ้ารู้ตั้งแต่ 2 ภาษาขึ้นไป จึงจะได้ Ph.D. (Doctor of Philosophy) หากรู้ภาษาอังกฤษภาษาเดียว ก็จะได้วุฒิ Ed.D. (Doctor of Education) สำหรับประเทศอื่น ๆ ไม่ทราบนะคะ แต่ตอนที่ดิฉันจะจบ เขาต้องเอา transcript มาดูว่าเราลงเรียนวิชาภาษาไทยกี่วิชา พูดและใช้ภาษาไทยได้จริงหรือเปล่า
ข้อได้เปรียบจากการรู้ภาษาที่ 2 ที่พอสรุปได้ ได้แก่
1. ทำงานได้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพในเศรษฐกิจของโลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน และอนาคต
2. เพิ่มโอกาสในการมีงานทำ และรายได้ที่ดีกว่า
3. พัฒนาการรับรู้เรื่องวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ และเข้าใจโลกมากขึ้น
4. เพิ่มโอกาสในการศึกษา และท่องเที่ยวในต่างประเทศ
5. เพิ่มทักษะการคิดอย่างวิเคราะห์ และสร้างสรรค์
6. สามารถค้นคว้า และหาความรู้เพิ่มเติ่ม จากตำราต่างประเทศได้อย่างไร้เขตจำกัด
7. สามารถอ่านวรรณคดี นวนิยาย ฟังเพลง และชมภาพยนตร์ต่างชาติได้อย่างมีอรรถรส
8. ยอมรับและเข้าใจคนในชาติ ต่างชาติ และความเป็นสากลได้ดีขึ้น
(Jangprom, 2006)
เมื่อไรลูกคุณจึงควรเรียนภาษาอังกฤษ
การเรียนภาษาอังกฤษ และการรับรู้ภาษาอังกฤษไม่เหมือนกัน
การรับรู้ภาษา (acquisition) คือการเรียนโดยไม่รู้ตัว เหมือนกับตอนที่เราหัดพูดภาษาไทย พ่อ แม่ และคนใกล้ชิดสอนให้เราพูด เรียกสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยไม่ได้ สอนให้สะกดคำ ได้แต่พูดกับเรา จนเราสามารถเลียนเสียง และหัดพูดกลับได้ การรับรู้ทางภาษาจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เมื่อเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่พูดภาษานั้น ๆ
การรับรู้ทางภาษาที่ดีที่สุด คือเมื่อผู้เรียนอยู่ในวัยเยาว์ มีการซึมซับภาษาโดยไม่รู้ตัว เหมือนกับตอนที่เราเรียนภาษาไทยนั้นเอง ผู้เรียนจะรับรู้ภาษาอังกฤษได้เหมือนกับการเรียนภาษาไทยอย่างเป็นธรรมชาติ คือเริ่มจากการรับฟัง แล้วจึงพูด อ่าน และเขียน
การเรียน (learning) ภาษา หมายถึงกระบวนการเรียนการสอนที่มีครูเป็นผู้สอน และผู้เรียนคือนักเรียน จะเป็นการเรียนที่เป็นเรื่องเป็นราวเป็นทางการ การเรียนภาษาแบบนี้ เราสามารถเรียนได้ตลอดช่วงชีวิตคน
ภาษาไม่ใช่การเลียนแบบและเลียนเสียงเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ผู้พูดและผู้เขียนได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ด้วย
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าการเรียนภาษาที่ 2 เพื่อให้การออกเสียงเหมือนกับเจ้าของภาษา ควรทำก่อน Puberty หรือก่อนที่จะเป็นวัยรุ่น (Marcos, 2006) เพราะเป็นช่วงก่อนที่ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนทักษะอี่น ๆ จะเรียนเมื่อไรก็ย่อมได้ ผู้รู้ยอมรับว่าการเรียนภาษาก็เหมือนกับการเรียนวิชาอื่น ๆ ที่ยิ่งเรียนนานก็ยิ่งเก่งขึ้น มีผู้รู้อีกหลายคนให้ความเห็นว่าเริ่มเรียนตั้งแต่ยิ่งเด็กก็ยิ่งดี โดยเราจะเห็นได้จากเด็กที่มีพ่อแม่พูดกันคนละภาษา เด็กจะใช้ภาษาทั้งสอง ได้ดีอย่างเท่า ๆ กัน เรียกว่า Totally Bilingual หากพ่อและแม่พูดกับลูกทั้งสองภาษา เด็กจะพูดช้ากว่าเด็กพูดภาษาเดียว เพราะว่าต้องแยกแยะว่า ส่วนไหนเป็นของภาษาใด ภายในอายุ 3 ขวบเด็กก็จะแยกแยะได้ ขณะนี้มีผู้ที่กำลังจะเป็นแม่หลายคน เริ่มสอนลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องไร้สาระแต่อย่างใด เพราะมีงานวิจัยมากมายสนับสนุนว่า หากอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง เมื่อเด็กโตขึ้นจะประสบความสำเร็จในการเรียนมากขึ้น
ส่วนการรับรู้ภาษาที่สอง จนสามารถใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันได้นั้น จะใช้เวลารับรู้และซึมซับ ในสภาพแวดล้อมที่พูดภาษาที่สองประมาณ 2-3 ปี แต่ถ้านำไปใช้ในการศึกษา เข้าเรียนในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ผู้เรียนควรใช้เวลารับรู้ภาษาในสภาพแวดล้อมที่พูดภาษาที่สองเป็นเวลา ประมาณ 5-7 ปี จึงจะมีความพร้อมเทียบเท่ากับเจ้าของภาษา (Cummins, 2006)
ลูกคุณควรเรียนภาษาอังกฤษอย่างไร
Noam Chomsky นักภาษาศาสตร์ กล่าวว่า คนเราเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการรับรู้ภาษา ซึ่งเป็นความสามารถทางธรรมชาติที่ทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด เหมือนความสามารถในการเดิน การวิ่ง การกินอาหาร การว่ายน้ำ
"ขอย้ำว่าการรับรู้ภาษา ไม่ใช่การเรียนภาษา"
เพราะการเรียนจะทำเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้ารับรู้หรือ acquire ภาษา จะทำได้ในวัยเด็ก วิธีที่เราจะเรียนภาษาได้ดีที่สุดคือวิธีแบบธรรมชาติ โดยเด็กได้รับรู้เอง โดยไม่มีการแปล เพราะหากมีการแปล ก็เท่ากับกระชากกลับมายังภาษาที่ 1 หรือภาษาไทยก่อน แล้วค่อยจำศัพท์ใหม่ ๆ เป็นคำแปลภาษาไทย หากไม่มีการแปล ผู้เรียนก็จะรับรู้ศัพท์หรือโครงสร้างใหม่ ๆ เป็นภาษาอังกฤษเลย เช่นเมื่อเรารู้จักของใหม่ ๆ ที่เมืองไทยไม่มีมาก่อน เราก็จะเรียกทับศัพท์ โดยไม่มีการแปล เช่น Computer ของบางอย่างเมื่อเข้ามาในภาษาไทยแล้ว คนก็ไปแปลกันอีกก็จะทำให้ตลกมากกว่าที่จะสื่อความหมายได้ เช่นละมุนภัณฑ์ (soft ware) สดมภ์ ( column) ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร (plastic wrap)
การเรียนการสอนภาษาอังกฤษมีหลายวิธี วิธีที่เก่าที่สุด และใช้ได้ผลที่สุดในการกวดวิชา คือการสอนไวยากรณ์และแปล (Grammar-translation) เป็นการสอนหลักภาษาโดยการแปล ที่พวกฝรั่งชอบล้อว่า "คนไทยเรียนภาษาอังกฤษ แต่เรียนเป็นภาษาไทย" พอไปเมืองนอกก็สื่อสารกันไม่ได้ จะสื่อสารกันทีก็ต้องเขียนให้เขาอ่าน แล้วเขาก็ต้องตอบโดยเขียนให้เราอ่านเช่นกัน
วิธีที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการเรียนแบบธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่การสอนแบบตรง (Direct Method) คือการสอนที่ให้ผู้เรียนเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พูดภาษาอังกฤษ เช่นที่โรงเรียนสอนภาษา Berlitz ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลกใช้ แต่เขาก็นำมาเปลี่ยนชื่อเป็น Bertitz Method หรือมีนักภาษาศาสตร์ และนักการศึกษาหลายคนมาปรับเปลี่ยนให้ต่างกันอย่างละนิดอย่างละหน่อย จากทฤษฎีและความเชื่อเหมือนกัน จนได้ชื่อต่าง ๆ กัน เช่น
Communicative approach
Whole language approach
Natural approach
Co-operative learning
Situational instruction
Functional-notional method
Task-based instruction
Content-based
Learner-centered หรือ student centered teaching instruction
มากมายแล้วแต่จะเรียกกันไป โดยยึดความเชื่อและหลักการเดียวกับการสอนแบบตรง
ในวิธีการสอนเหล่านี้ เราจะกำหนดสถานการณ์หรือเป้าหมาย ให้นักเรียนได้ ฟัง พูด และแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อาจจะมีการอ่านและเขียนบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ เราจะเน้น Process มากกว่า Product คือเราจะเน้นให้นักเรียนได้ฝึก มากกว่าที่จะมาตรวจว่าผลงานถูกต้องหรือไม่ เช่นตัวอย่างใบงานของการสอนแบบนี้ (ดูเอกสารประกอบ) กว่านักเรียนจะขีดถูก 2 ครั้งได้ถูกต้อง นักเรียนต้องสื่อสารกับคู่สนทนา และฝึกตามรูปแบบที่ครูตั้งไว้ เป็นเวลานาน
ซึ่งถ้าหากท่านผู้ปกครองตรวจดูงานของลูก ๆ บางทีก็ไม่มีผลงานมากมายนัก เพราะคุณครูจะเน้นภาคปฏิบัติ มากกว่าผลงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ลูกคุณควรเรียนภาษากับใคร
ถ้าดีที่สุดก็เรียนกับเจ้าของภาษา หากหาไม่ได้จริง ๆ ก็เรียนกับคนไทยก็ได้
ทำไมจึงควรเรียนกับเจ้าของภาษา เพราะถ้าเรียนกับเจ้าของภาษาจะได้ครบทั้ง 3 ประการที่เราต้องการจากการเรียน คือ
1. Accuracy ความถูกต้องทางภาษา คือ ไวยากรณ์ถูกต้อง
2. Fluency ความคล่องแคล่ว ว่องไว ในการใช้ภาษา
3. Appropriateness ความเหมาะสม ถูกต้องกาลเทศะ และธรรมเนียมปฏิบัติ
เพราะว่าวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของภาษา เดี๋ยวนี้เรียนแค่ให้ถูกต้องไม่ได้แล้ว ต้องเรียนและใช้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะด้วย มีคราวหนึ่งดิฉันได้แนะนำอาจารย์ฝรั่งผู้ชายที่มาใหม่ ให้รู้จักกับอาจารย์คนไทยผู้ชายด้วยกัน อาจารย์ไทยได้พูดว่า
"You are very handsome"
ซึ่งไม่ผิดไวยากรณ์ แต่ทำให้ฝรั่งขนลุก เพราะว่าเขาจะไม่ชมคนเพศเดียวกัน นอกจากพวกที่เป็นเกย์
มีตัวอย่างอีกอันหนึ่งที่ถ้าเราเรียนกับคนไทยคงจะไม่เห็นความแตกต่าง เช่น
นาย ก. พูดว่า "I need a pen" ฉันต้องการปากกา
นาย ข. พูดว่า "The pen is on the table" ปากกาอยู่บนโต๊ะ
นาย ค. พูดว่า "There is a pen on the table" มีปากกาอยู่บนโต๊ะ
นาย ก.มีสิทธิ์จะโกรธ นาย ข. เพราะนาย ข. พูดโดยละความหมายที่ว่า "The pen (you need) is on the table. (Why don't you get it yourself?) หมายถึง ปากกาอยู่บนโต๊ะ ไปหยิบเอาเองซิ ส่วนที่นาย ค. พูดว่า "There is a pen on the table " มีความหมายละว่า please help yourself... I can't get it for you. หมายถึง มีปากกาอยู่บนโต๊ะ เชิญหยิบไปตามสบายเลย
ด้วยเหตุแห่งวัฒนธรรมนี้เองที่เราเรียนกับเจ้าของภาษาจะดีที่สุด เพราะได้สอดแทรกวัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาษา และกำลังจะมีบทบาทมากขึ้นทุกวัน นักภาษาศาสตร์เรียกว่า pragmatic นอกจากนี้นักเรียนก็ยังได้เรียนรู้วิธีคิด วัฒนธรรม และธรรมเนียมปฏิบัติของฝรั่ง และสามารถรู้เท่าทัน และคิดดักความคิดของฝรั่งได้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นผลพลอยได้ที่มีความสำคัญยิ่ง
หนังสืออ้างอิง
Bamform, K.W., & Mizokawa, D.T. (1991). Additive-bilingual(immersion). Education: Cognitive and language development. Language Learning, 41, 413-429
Bardovi-Harlig, K. & Mahan-Taylor, R. (2006). Teaching pragmatics. Bureau of Educational and Cultural Affairs, OFFICE OF ENGLISH LANGUAGE PROGRAMS. Retrieved July 15, 2006 from http://exchanges.state.gov/education/engteaching/pragmatics/intro.htm
Cummins, J. (2006). Interpersonal Communicative Skills and Cognitive Academic Language Proficiency. Retrieved July 15, 2006 from http://www.iteachilearn.com/cummins/bicscalp.html
Harmer, J. (2002). The Practice of English Language Teaching (3rd ed.) Malaysia:Longman
Jangprom, W. (2006). Why should we learn a second language? Unpublished term paper. Thepsatri Rajabhat University.
Krashen, S.D. (1988). Second Language Acquisition and Second Language Learning. Prentice-Hall International.
Larser-Freeman, D. (2000). Techniques and principles in language teaching. Oxford: Oxford University Press.
Marcos, K. (2006). Why, How, and When Should My Child Learn a Second Language? ERIC Clearinghouse on Languages and Linguistics. Retrieved July 15, 2006 from http://www.newsforparents.org/expert_child_learn_second_language.html
Richards, J. & Rodgers., T. (2001). Approaches and methods in language teaching (2nd ed.) Cambridge: Cambridge University Press.
The SAT College Board. (2006). College-bound seniors: Aprofile of SAT program test takers 1992. College Entrance Examination Board. Retrieved July 15, 2006 from http://www.collegeboard.com/press/senior01/html/caution.html